คอลลาเจน ในผู้สูงอายุ

นายแพทย์รัฐภูมิ สุเมธิวิทย์  ( ที่มา : คอลัมน์ สาระน่ารู้ นิตยสารแม่บ้าน ฉบับ เดือน ธันวาคม 2548 )

คอลลาเจนมีส่วนสำคัญช่วยให้ผิวหนังเต่งตึง กระชับ ถ้าคอลลาเจนเสียก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องริ้วรอยเหี่ยวย่น ผิวหนังหย่อนยาน และถ้าต้องการแก้ปัญหาเรื่องผิวหนังเหี่ยวย่น เราต้องเสริมสร้างคอลลาเจน ด้วยการยิงเลเซอร์ให้เกิดการสร้างคอลลาเจนใหม่ หรือการรับประทานผลิตภัณฑ์คอลลาเจนที่เชื่อว่าจะเข้าสู่ร่างกาย ไปชดเชยคอลลาเจนให้กับผิวได้ ซึ่งนี่คือความรู้ที่เชื่อว่าทุกท่านคงจะทราบกันอยู่บ้างแล้ว แต่ยังมีอีกหลายๆท่านยังไม่ทราบว่า ที่จริงแล้วคอลลาเจน นอกจากจะมีที่ผิวหนังแล้ว ยังมีอยู่ที่อวัยวะอื่นๆอีก

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคอลลาเจนของร่างกายเราเสียก่อน คอลลาเจนเป็นโปรตีนที่สำคัญของร่างกาย เพราะเป็นส่วนประกอบสำคัญของอวัยวะต่างๆ หลายๆอวัยะ ที่เรารู้จักกันดีที่สุดก็คือ คอลลาเจนที่เป็นส่วนประกอบของผิวหนัง แต่ที่จริงแล้วยังมีอีกหลายๆส่วนของร่างกายที่มีคอลลาเจนเป็นองค์ประกอบหลัก อย่างน้อยเท่าที่พบแล้วมีทั้งหมด 19 ชนิดด้วยกัน แต่ละชนิดก็จะมีมากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ ซึ่งคอลลาเจนมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด

ชนิดที่ 1 พบที่ผิวหนัง ที่เจริญเต็มที่ กระดูกและเอ็น
ชนิดที่ 2 พบที่กระดูกอ่อน
ชนิดที่ 3 พบที่ผิวหนังของทารก หรือผิวหนังที่เริ่มมีการสร้างใหม่ เช่น ผิวหนังที่เป็นแผลและเริ่มมีการสร้างคอลลาเจนใหม่ นอกจากนี้ยังพบที่เส้นเลือดและทางเดินอาหาร
ชนิดที่ 4 พบที่เยื่อหุ้มเซลล์
ชนิดที่ 5 และ 6 พบได้ทั่วๆไป

ส่วนมากเราจะรู้จักคอลลาเจนในแง่ความงาม ซึ่งก็คือคอลลาเจนของผิวหนัง คือ คอลลาเจนชนิดที่ 1 และชนิดที่ 3 ถ้าต้องการให้ผิวไม่แก่ก็เสริมให้ผิวมีคอลลาเจนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทา การฉีด การยิงเลเซอร์และการทานอาหารเสริม

แต่ปัญหาหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคอลลาเจนเช่นกัน แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความงาม แต่ก็มีส่วนสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพของร่างกายที่ทุกคนถ้าอายุมากขึ้นมาจะต้องประสบ นั่นคือ

คนที่อายุน้อยๆอาจจะยังไม่รู้จักฤทธิ์ของ “ข้อเข่าเสื่อม” ดีเท่าไร แต่คนที่อายุเลยวัยกลางคนขึ้นไปแล้ว จะรู้จักกับมันเป็นอย่างดี และคนที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับข้อเข่าเสื่อม ก็อาจละเลยการป้องกันและการรักษา แต่ถ้าคนไหนที่เคยมีประสบการณ์กับมันแล้ว ก็จะทราบได้ว่า โรคข้อเข่าเสื่อมนั้นทรมานแค่ไหน

อาการของข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการที่กระดูกอ่อนที่หุ้มด้านในผิวสัมผัสระหว่างกระดูกขาช่วงล่างกับช่วงบน เกิดการสึกกร่อน เนื่องจากต้องแบกรับน้ำหนักของเรามานานนับสิบๆปี เมื่อสึกมากๆ ช่องว่างระหว่างข้อก็จะแคบ ทำให้ส่วนปลายของกระดูกขาทั้งช่วงบนและช่วงล่างมาสัมผัสเสียดสีกันมากขึ้น ทำให้เกิดอาการ ระยะแรกจะมีอาการติดขัด เวลาขยับ มีเสียงกรอบแกรบในข้อ และอาการติดขัดนี้จะมากขึ้นเรื่อยๆ ตามวัย และอาการปวดก็จะตามมา จากปวดน้อยๆก็กลายมาเป็นปวดมาก และเมื่อเป็นมากๆข้อส่วนด้านในจะสึกมากกว่าด้านนอก ทำให้กระดูกขาโก่ง

การรักษาในระยะแรกอาจใช้ยาทานแก้ปวด ซึ่งถ้าทานนานๆอาจมีผลกัดกระเพาะ และมีปัญหาเกี่ยวกับไตได้ ในรายที่เป็นมาก แพทย์จะช่วยให้ข้อลดการเสียดสี เพื่อบรรเทาอาการ โดยการฉีดน้ำข้อเทียม แต่จะอยู่ได้ประมาณ 6-12 เดือน ก็จะเกิดอาการใหม่ และน้ำข้อเทียมนั้นก็ราคาค่อนข้างสูงและในที่สุดแล้วก็จะต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อใหม่ สำหรับรายที่อาการเป็นมากจนไม่สามารถทนอยู่ได้อีกต่อไป

หนทางหนึ่งที่อาจเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันและรักษาภาวะโรคข้อกระดูกเสื่อมได้คือ การรับประทานคอลลาเจนเสริม อย่างที่บอกไว้แล้วว่า กระดูกอ่อนมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ คอลลาเจนชนิดที่ 2 ( Collagen Type II ) ซึ่งถ้าเราสามารถให้แหล่งอาหารที่เข้าไปเสริมสร้างคอลลาเจนชนิดนี้ หรือเสริมสร้างกระดูกอ่อน ก็จะช่วยให้อาการของข้อเสื่อมดีขึ้น และยังสามารถป้องกันการเสื่อมของข้อได้อีกด้วย

การที่คนเราจะดูหนุ่มสาว นอกจากสิ่งที่แสดงให้เห็นภายนอกซึ่งก็คือผิวหนังแล้ว สิ่งที่อยู่ภายใน คือความหนุ่มสาวของอวัยวะต่างๆภายใน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่บ่งชี้ให้เห็นความอ่อนเยาว์ ถึงแม้ผิวหน้าจะไม่มีริ้วรอย แต่สุขภาพภายในกลับแย่ ก็ยังคงไม่ใช่ความอ่อนเยาว์อย่างแท้จริง ดังนั้นการบำรุงดูแลรักษาสุขภาพร่างกายโดยรวมก็มีส่วนสำคัญ ที่ทำให้เราดูหนุ่มสาวกว่าวัยอยู่เสมอครับ

กระดูกคืออวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายที่มีชีวิต กระดูกมีการสร้างและสลายเกิดขึ้นตลอดเวลา และต้องการอาหารไปหล่อเลี้ยงเพื่อซ่อมสร้างเหมือนอวัยวะอื่นๆ กระดูกมีส่วนประกอบเป็นสารอาหารหลัก คือ แคลเซียม กับ โปรตีน แคลเซียมเป็นแร่ธาตุหลักที่เข้าไปเกาะกับโปรตีนคอลลาเจนทำให้เกิดการยึดโยงระหว่างแคลเซียมและคอลลาเจน ขณะเดียวกันมีเกลือแร่ตัวอื่นเข้าไปเสริมด้วย เช่น ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม หรือฟลูออไรด์ และยังมีวิตามินดีที่มีความสำคัญมากในการช่วยการดูดซึมของแคลเซียมเข้าสู่เซลล์และไปสะสมที่กระดูกได้ การได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างพอเพียงจะช่วยการสร้างและสะสมมวลกระดูก เพิ่มความแข็งแรงให้กระดูกและป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน

การขาดคอลลาเจนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มวลกระดูกน้อยลงมาก ในปัจจุปันมีคนจำนวนน้อยมากที่ทราบว่าในกระดูกประกอบด้วยแคลเซียม 90% ที่เหลือเป็นคอลลาเจน กระดูกสร้างขึ้นจากแคลเซียมโดยต้องมีคอลลาเจนทำหน้าที่เป็นเหมือนตาข่ายที่คอยยึดให้แคลเซียมเกาะตัวเป็นกระดูกได้ ซึ่งถ้าขาดคอลลาเจนแล้วแคลเซียมก็ไม่สามารถที่จะเกาะตัวกันได้ดังนั้นถ้าใครเป็นโรคกระดูกพรุน หรือ มวลกระดูกน้อย ควรจะต้องบริโภคไม่เฉพาะแต่แคลเซียมเท่านั้นคอลลาเจนก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริโภคด้วยเช่นกัน ถ้าร่างกายขาดคอลลาเจนจะทำให้กระดูกเปราะและแตกหักง่าย

การเสริมคอลลาเจนจะช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง ช่วยเสริมสร้างมวลกระดูก คอลลาเจนเมื่อเข้าสูร่างกายจะกระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของเซลล์ Osteoblast ที่ทำหน้าที่สร้างกระดูก จึงช่วยเพิ่มมวลกระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุน ป้องกันกระดูกเปราะและแตกหักง่าย แนะนำให้รับประทานร่วมกับแคลเซียมป็นประจำ

Recommended Articles

Leave a Reply